ความเป็นมา
ปี 2543 สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น ได้สนับสนุนให้เกิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่ภาคอีสาน โดยใช้ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นหรือNodeพี่เลี้ยง ทำหน้าที่บริหารจัดการโครงการวิจัยในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพ และมีความคาดหวังในอนาคตว่าจะ “สามารถค้นหาแนวทางหรือรูปแบบการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่แต่ละแห่งได้ และสามารถบริหารจัดการรองรับการถ่ายโอนการบริหารจัดการงานวิจัยและงานพัฒนา โดยอาศัยประสบการณ์ ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกันแล้วนำมาสรุปบทเรียนเพื่อยกระดับการทำงานอย่างเป็นระบบ และพัฒนาไปสู่การเป็นประชาคมวิจัยและพัฒนา หรือเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาในท้องถิ่นภาคอีสานที่มีบทบาทหน้าที่ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอีสานจากงานวิจัยและงานพัฒนาได้ในปี 2547 สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นได้สนับสนุนให้เกิดกลไกการสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสาน เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและการบริหารจัดการให้พี่เลี้ยงสามารถติดตาม สนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในพื้นที่ได้อย่างมีคุณภาพทั้งในเชิงกระบวนการและเนื้อหา ปัจจุบันระบบสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสานในปี 2557 มี Node สนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเชิงพื้นที่ และเชิงประเด็น รวม 18 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดในภาคอีสาน และมี 1 กลไกภาคอีสาน ทำหน้าที่พัฒนาศักยภาพและบริหารจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสาน
การก่อตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน
จากบทเรียนและประสบการณ์ในการบริหารจัดการงานวิจัยตลอดระยะเวลา 7 ปีของกลไกภาคอีสาน ร่วมกับประสบการณ์การติดตาม สนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสานของเครือข่ายผู้สนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคอีสาน หรือ Node พี่เลี้ยง เป็นเวลา 14 ปี จึงได้เกิดแนวคิดการก่อตั้งมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน ขึ้น เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2555 และได้ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิขึ้น โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ สิมารักษ์ เป็นประธานมูลนิธิฯ ได้รับการอนุมัติให้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการจากนายทะเบียนมูลนิธิประจำจังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 13 มีนาคม 2557
ปรัชญาองค์กร
สร้างคนเพื่อสร้างปัญญาของชุมชน
เป้าหมาย
สร้างคน สร้างความรู้ สร้างพื้นที่สู่การสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงชุมชนท้องถิ่นอีสานบนฐานความรู้ ภูมิปัญญาของชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนอีสานอยู่อย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน
วัตถุประสงค์ขององค์กร
1. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคอีสาน
2. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภาคอีสาน
3. เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นด้านต่างๆ ได้แก่ คุณภาพชีวิต สุขภาวะ การศึกษา ประเพณีวัฒนธรรม เกษตรกรรมยั่งยืน เศรษฐกิจชุมชน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
4. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และรูปธรรมทางเลือกในการพัฒนาท้องถิ่นภาคอีสาน
5. ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด
ภารกิจหลัก
1. การสร้างรูปธรรมในพื้นที่และงานพัฒนาทางเลือกในการพัฒนา โดยใช้กระบวนการวิจัย
2. การพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างพลังชุมชนท้องถิ่นเพื่อการปฏิรูปร่วมกับกลุ่ม องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ
3. การจัดการความรู้การทำงานเพื่อการสื่อสารสังคม
4. การศึกษาวิจัยเพื่อการพัฒนา
5. การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาร่วมกับภาคี เครือข่ายการทำงาน
6. การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อการพัฒนา
7. การประสานการทำงานกับภาคี เครือข่ายการทำงาน